วันเสาร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

วิธีรับมืออารมณ์ต่างๆของลูก

เด็กอารมณ์ดี ขี้เล่น น่ารัก เชื่อว่าใครๆ ก็อยากเข้าใกล้และสัมผัส พ่อแม่ก็คงปลื้มใจที่ลูกของตัวเองเป็นที่รักใคร่และชื่นชมของบุคคลอื่น แต่หากลูกของเรามีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ อารมณ์ร้อนอย่างร้ายกาจ พ่อแม่ก็คงปวดหัวน่าดู แต่ถามว่าพ่อแม่มีวิธีรับมือกับเรื่องเหล่านี้หรือไม่ ย่อมมีแน่นอน ที่สำคัญ หากปรับพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ของลูกตั้งแต่ต้น ก็จะช่วยให้ลูกเลิกพฤติกรรมเหล่านั้นไปได้ในที่สุด

แล้ววิธีการรับมือกับอารมณ์ต่างๆ ของลูกมีอะไรบ้างศ.นพ.พิภพ จิรภิญโญ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เขียนวิธีการรับมือกับอารมณ์ต่างๆ ของลูก ไว้ในหนังสือชุด คัมภีร์เลี้ยงลูกให้เก่งและดีดีกรีฮาร์วาร์ด ตอน พื้นฐานในการเลียงลูกให้เก่งและดี ไว้ว่า

การเลี้ยงลูกอย่างถูกวิธีในช่วง 2 ขวบปีแรก จะช่วยป้องกันไม่ให้ลูกเป็นคนอารมณ์ร้อนหรืออารมณ์ร้าย แต่มีเพียงไม่กี่ครอบครัวเท่านั้นที่เลี้ยงลูกได้อย่างใกล้ชิดและหมั่นคอยดัดหรือแก้ไขพฤติกรรมที่ผิดๆ ของลูกตั้งแต่เริ่ม ครอบครัวส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจที่จะแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่ดีของลูกในระยะ 2 ปีแรกเลย ปล่อยให้ลูกทำผิดๆ อย่างต่อเนื่องจนติดเป็นนิสัย เกิดอารมณ์ร้ายทุกครั้งที่ไม่พอใจ เพื่อไม่ให้พฤติกรรมที่ผิดๆ นี้ติดเป็นนิสัยไปจนโต เมื่อพบว่าลูกมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์เมื่อใด ก็ควรหมั่นแก้ไขทันทีและอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา

1.พฤติกรรมก้าวร้าวหรือดื้อ


ทารกอายุประมาณ 8-9 เดือนจะเริ่มควบคุมมือของตัวเองได้ดี จึงมักจะลองตบสิ่งของใกล้ตัวหรือคนที่อยู่ใกล้ตัว ในระยะแรกของการตบก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าปล่อยไปเรื่อยๆ เขาจะรู้ว่าการตบคนอื่นทำให้ผู้นั้นเจ็บได้ ถ้าไม่ห้าม ต่อไปเขาจะมีเครื่องมือในการทำร้ายคนอื่น เป็นการก่อให้เกิดความก้าวร้าวขึ้นมาในจิตใจของเขาโดยไม่รู้ตัว

ขณะที่เขาอายุ 2-3 ปี และมีพฤติกรรมชอบตบตีคนอื่น ควรรีบแก้ไขพฤติกรรมที่เอาแต่ใจตัวเองของลูก แต่ไม่แนะนำให้ตีเขา เพราะจะทำให้เขาใช้วิธีนี้กับผู้อื่น ควรใช้ความสงบในการลงโทษมากกว่าวิธีอื่น เช่น ขณะที่เขาก้าวร้าวจะวิ่งไล่ตีคนอื่น ก็ควรแยกเขาให้อยู่คนเดียวสัก 1-2 นาที จนกว่าอารมณ์ของเขาจะสงบลง ในกรณีที่เขาชอบแสดงอาการดื้อและก้าวร้าวในห้างสรรพสินค้า ขอให้ใจเย็นๆ นำเขากลับบ้านทันที ให้อยู่กับพี่เลี้ยง แล้วจึงออกไปทำธุระต่อให้เสร็จ การลงโทษเช่นนี้ควรทำสม่ำเสมอและทำตั้งแต่เขายังเล็ก

ทุกครั้งที่เขามีพฤติกรรมเช่นนี้ต้องรีบจัดการ มิฉะนั้นพฤติกรรมนี้จะติดตัวและจะเป็นพฤติกรรมที่ทำร้ายตัวของลูกเองในภายหลัง

2.ซนกว่าปกติ

ตามธรรมชาติจะแบ่งอุปนิสัยทารกออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกคือกลุ่มกลัวหรือเรียบร้อยมาก กลุ่มที่สองคือ กลุ่มกล้าๆ กลัวๆ และกลุ่มที่สามคือ กลุ่มซนหรือกล้ามาก กลุ่มที่ซนหรือกล้านี้จะเป็นทารกหรือเด็กที่อยากรู้อยากเห็น เด็กกลุ่มนี้จะเริ่มเดินหรือพูดได้เร็วกว่าปกติ และความอยากรู้อยากเห็นของเขานี้เองทำให้เขาประสบอุบัติเหตุได้บ่อย เช่น ตกเตียงหรือหัวชนกับโต๊ะหรือกำแพงได้

นอกจากนี้ อาจพบเด็กที่ซนมากกว่าปกติ จนถึงขั้นที่เรียกว่า พวกสมาธิสั้น บางคนอาจจะเรียกว่า เด็กไฮเปอร์ ซึ่งย่อมาจากภาษาอังกฤษว่า hyperactive child จนถึงขณะนี้ยังไม่ทราบถึงสาเหตุของการเกิดภาวะนี้ แต่บางครั้งการเลี้ยงดูที่ไม่ถูกต้องก็ทำให้เขาไฮเปอร์ได้ การที่เขามีความเครียดอยู่ในใจ ทำให้เขาซนเพื่อเรียกร้องความสนใจก็ได้ เมื่อพบว่าลูกเป็นเช่นนี้ ควรใส่ใจเขาให้มากขึ้น โอบกอดเขา พูดจากับเขาบ่อยๆ ควรให้เขาทำกิจกรรมที่สร้างเสริมสมาธิ เช่น การต่อจิ๊กซอว์ง่ายๆ การต่อเลโก้ หรือการเรียนวาดเขียน เด็กพวกนี้จะมีพลังงานสูงมาก การส่งเขาไปว่ายน้ำเพื่อลดพลังงานในตัวเขาก็จะช่วยได้มาก

ในกรณีที่เขามีสามธิสั้นควรหากลอุบายให้ทำกิจกรรม 2-3 ชนิดต่อเนื่องกัน เพื่อเป็นการยืดสมาธิของเขา และเมื่อพบลูกเข้าข่ายนี้เมื่อใด ก็ควรรีบแก้ไขตลอดเวลา เพื่อให้เขามีสมาธิที่ดีขึ้นก่อนเข้าโรงเรียน

3.เอาแต่ใจตัวเอง

การเอาแต่ใจตัวเองเป็นพฤติกรรมที่เกิดข้นต่อเนื่องจากช่วงทารก ซึ่งในระยะแรกๆ ถ้าเขาสนใจอยากได้อะไร ผู้ใหญ่รอบๆ ข้างก็มักจะยอมและตามใจเขา โดยไม่มีการจำกัดขอบเขต เมื่อเขาเติบโตขึ้น บางสิ่งบางอย่างไม่ถูกต้องก็ควรจะห้ามเขาได้ แต่การเลี้ยงดูที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ไม่เคยถูกจำกัดขอบเขตของพฤติกรรม อยากทำอะไรก็ไม่มีคนกล้าขัดใจ จนเป็นเด็กที่เอาแต่ใจตัวเอง ทำให้ติดเป็นนิสัย และมักจะแสดงอาการก้าวร้าวเมื่อมีคนมาขัดใจ เช่น ขว้างของ ตีคนรอบข้าง หรือ ทำร้ายตนเอง เช่น หัวโขกพื้น หรือร้องไห้แล้วกลั้นใจจนหน้าเขียวก็มี

พ่อแม่จำนวนมากเมื่อพบพฤติกรรมตอบโต้ของเขาเช่นนี้ก็เกิดความกลัว ในที่สุดก็ไม่กล้าขัดใจ ทำให้เขาได้ใจและใช้วิธีการนี้เป็นอาวุธประจำตัวเมื่อมีคนขัดใจ กลายเป็นเด็กที่เอาแต่ความคิดตนเองเป็นหลัก เมื่อเป็นมากขึ้นก็จะไม่เห็นความสำคัญของคนอื่น กลายเป็นคนเห็นแก่ตัวและเข้าสังคมไม่ได้ จึงควรดัดเขาตั้งแต่เล็กๆ ทุกครั้งที่พบพฤติกรรมเช่นนี้ เช่น การที่เขาร้องแล้วกลั้นหายใจจนเขียวนั้น ก็อย่ายอมเขา โดยปล่อยให้เขาร้อง อยู่ใกล้ๆ เขา เอามือหนึ่งของคุณไว้บนแผ่นหลังของเขา อีกมือหนึ่งของคุณไว้บนหน้าอกของเขา แล้วกดอกของเขาเข้าหากันเบาๆ เพื่อเป็นการผายปอด จะทำให้เขากลับมาหายใจได้เร็วขึ้น ลูกมักจะร้องกลั่นหายใจเฉพาะครั้งแรกที่ร้องเท่านั้น เมื่อเขากลับมาหายใจดังเดิมก็เดินจากมา ปล่อยให้เขาร้องต่อไป ในครั้งต่อๆ ไปเขาจะไม่ทำเช่นนี้อีก เพราะไมได้ประโยชน์อะไรจากการร้องไห้รุนแรงเช่นนี้

ในกรณีที่ชอบขว้างของ ตีคนรอบข้างหรือทำร้ายตนเอง เมื่อมีคนมาขัดใจ ก็ให้แก้ไขในทันทีที่พบเช่นกัน พฤติกรรมเหล่านี้ลูกมักจะทำในช่วงแรกของความไม่พอใจ จึงควรอยู่ใกล้ๆ เขาในช่วงนั้น ถ้าเขาจะขว้างของก็ให้จับมือเขาไว้ บีบจนคลายของที่จะขว้างแล้วปล่อยมือเขาลง ถ้าเขาจะหยิบสิ่งของอีกก็จับและบีบจนคลายมือเช่นเดิม จนเมื่อเขาเลิกทำได้แต่ร้อง จึงเดินออกมา

การตีคนรอบข้างก็เช่นกัน ให้จับมือเขาหรือขาของเขาที่จะทำร้ายผู้อื่น จนมั่นใจว่าหมดฤทธิ์แล้วจึงเดินจากมา เด็กบางคนชอบทำร้ายตนเอง เพราะคิดว่าพ่อแม่คงเจ็บไปด้วย เช่น เมื่อโกรธลูกอาจจะเอาศีรษะโขกพื้นหรือโขกกำแพงก็ควรห้ามไว้ จีบศีรษะของเขาเอาไว้ไม่ให้ทำ จนเขาเอาแต่ร้องแล้วเลิกทำ จึงเดินจากมาได้ อย่าให้ลูกทำพฤติกรรมเหล่านี้ได้สำเร็จ ไม่ต้องอ่อนข้อให้เขา แต่ไม่ควรตีเขาเพื่อเป็นการลงโทษ ลูกจะค่อยๆ คิดได้ในภายหลังว่า การเอาแต่ใจตัวเองนั้น ไม่เคยเกิดผลดีต่อตนเองเลย

4.ขี้กลัวหรือไม่กล้า

มีเด็กอย่างน้อยหนึ่งในสามที่เป็นเด็กขี้กลัวหรือไม่กล้า พ่อแม่หลายคนเห็นจุดอ่อนของลูกด้านนี้จึงมักนำมาใช้บังคับลูก โดยขู่สิ่งที่ลูกกลัวเพื่อหวังผลให้ลูกทำตามที่ตนต้องการ บ่อยครั้งที่การขู่ประสบผลสำเร็จทำให้ลูกทำตาม แต่การขู่นั้นจะทำให้ลูกเป็นคนขี้กลัวมากยิ่งขึ้น เป็นคนไม่กล้าแสดงออกหรือกลัวมากจนไม่กล้เข้าสู่สังคมเลยก็มี เช่น ขู่ลูกว่าอย่าออกนอกบ้านเดี๋ยวจะมีเสือมากัด ครั้นพอจะส่งลูกไปโรงเรียนอนุบาล ลูกก็ไม่กล้าไป เอาแต่ร้องไห้ จนในที่สุดลูกก็ไม่สามารถออกนอกบ้านได้ ดังนั้น เมื่อพบว่าลูกเป็นคนขี้กลัว ไม่ควรใช้การขู่ในการเลี้ยงลูกคนนี้เลย ควรสร้างความมั่นใจให้แก่เขาทีละเล็กทีละน้อย โดยเฉพาะเมื่อเขาได้พบกับประสบการณ์ใหม่ๆ เช่น การจะพาไปโรงเรียนอนุบาลในช่วงก่อนเรียน อาจพาเขาไปที่โรงเรียนปล่อยเขาเดินเล่นสัก 5-10 นาที แล้วจึงค่อยพากลับบ้าน วันต่อมาก็พาไปอีกเขาจะเริ่มชินที่นี่ สักพักก็พาเขากลับ พาเขาไปเรื่อยๆ จนเมื่อเขาเริ่มเคยชินกับสถานที่มากขึ้น เขาจะเริ่มเดินจากพ่อแม่ ค้นหาไปทั่วบริเวณนั้น โดยไม่ค่อยหันมาหาพ่อแม่ แสดงว่าเขาชินมากขึ้น

ครั้นถึงคราวเปิดเทอม ในช่วงแรกอาจส่งให้ครูเพียงวันละ 1-2 ชั่วโมง แล้วมารับเขากลับบ้าน ประมาณ 2-3 สัปดาห์หลังจากนั้น ก็สามารถเพิ่มเป็นครึ่งวันได้ จนเดือนต่อไปก็เพิ่มเป็นทั้งวันได้ หลักเกณฑ์ค่อยๆ เพิ่มประสบการณ์ในสิ่งใหม่นี้ ใช้ได้ในทุกกรณีสำหรับลูกที่เป็นคนขี้กลัวหรือไม่กล้า และควรจำไว้เสมอว่า ห้ามใช้การข่มขู่ไม่ว่ากรณีใดกับลูกที่มีนิสัยขี้กลัวเช่นนี้

จะเห็นได้ว่า ลูกอาจมีพฤติกรรมและอารมณฺที่ไม่พึงประสงค์มากมาย พ่อแม่ควรรู้ถึงพฤติกรรมและอารมณ์เหล่านี้ของลูกตั้งแต่ต้นๆ และควรหาทางแก้ไข การแก้ไขในช่วงแรกๆ จะประสบผลสำเร็จได้ง่าย และทำให้ลูกเลิกพฤติกรรมนั้นได้ไปตลอด แต่ในทางกลับกัน ถ้าอรารมณ์และพฤติกรรมที่ผิดๆ ของลูกไม่ได้รับการแก้ไขในช่วงแรกๆ การจะแก้ไขในภายหลังมักจะไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะพฤติกรรมและอารมณ์ร้ายเหล่านี้ได้ติดตัวลูกไปแล้ว



ที่มาบทความจาก manager.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น